Probiotics in Betagen

คุณประโยชน์ของโพรไบโอติก

อ่านต่อ
สาระน่ารู้กับ บีทาเก้น
โพรไบโอติก... สำคัญแค่ไหน?

        ตอนนี้มีอาหารอย่างหนึ่งที่กำลังฮิตฮอทเป็นอย่างมากในกลุ่มคนที่รักสุขภาพ อยากมีสุขภาพที่ดี อาหารที่ว่านี้ก็คือ โพรไบโอติก (Probiotic) ถึงขนาดที่พูดกันจากปากต่อปากว่า อาหารชนิดนี้กินอร่อยและไม่ทำให้ท้องผูก ทำให้มีสุขภาพดีขึ้นด้วย หลายคนก็รีบเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาซื้ออาหารโพรไบโอติกกินบ้าง ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้รายละเอียดของอาหารนี้สักเท่าไหร่ แต่เห็นเพื่อนๆ กินกัน ก็กลัวว่าตนเองจะตกเทรนด์ตามเพื่อนไม่ทันจึงต้องซื้อกินบ้าง เรามาทำความรู้จักกับโพรไบโอติกกันนะครับ

        คำว่า Probiotic ที่เราพูดคุ้นหูกันในตอนนี้ มาจากภาษาละตินและกรีก มีความหมายว่า เพื่อชีวิต โพรไบโอติกไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่จริงมีมานานมากแล้วตั้งแต่ 76 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยประวัติศาสตร์โรมัน พลินิโอ (Plinio) ชาวโรมันผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้ใช้นมหมักรักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (คือนมเปรี้ยวในสมัยนี้นั่นเอง) นมหมักนิยมกินกันในหมู่ชาวอียิปต์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบตะวันออกกลาง พวกคูมิสในมองโกเลีย พวกลัสสิในอินเดีย ประชาชนในธิเบตและบัลกาเรีย รวมทั้งผู้คนในเอเชียแถบแหลมบอลข่าน
โพรไบโอติก ต่อมาได้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในตอนต้นศตวรรษที่ 20 คือประมาณ 106 ปีมานี้เอง มีนักจุลชีววิทยาชาวรัสเซีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ชื่อว่า ดร. เอลี เมทช์นิคอฟฟ์ (Dr. Elie Metchnikoff) เขามีความสงสัยว่าทำไมชาวบัลกาเรียที่อาศัยอยู่ในชนบทจึงมีอายุยืนกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งตอนนั้นเขายังอาศัยอยู่ที่ประเทศบัลกาเรีย เขามีความคิดว่าจากการดำรงชีวิตของชาวบัลกาเรียเหล่านั้นนิยมกินอาหารชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นที่ทำกินกันในครัวเรือนทั่วๆ ไปเป็นประจำ อาหารชนิดนั้นก็คือ นมเปรี้ยว (Fermented Milk) นั้นเอง
ดร. เมทช์นิคอฟฟ์ สันนิษฐานว่า ในนมเปรี้ยวมีกรดชนิดหนึ่งเรียกว่า กรดแลคติก (Lactic Acid) ที่เกิดจากกระบวนการหมัก เมื่อกินแล้วจะช่วยส่งเสริมระบบย่อย ร่างกายจึงไม่เกิดการเสื่อม ดังนั้นเพื่อพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้ ดร. เมทช์นิคอฟฟ์ ซึ่งต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันปาสเตอร์ ในประเทศฝรั่งเศส ได้เอาตัวเองทดลองดื่มนมเปรี้ยวทุกวัน โดยใช้แบคทีเรียสายพันธุ์เดียวกับที่ชาวบัลกาเรียใช้ คือ สายพันธุ์บาซิลลัส บัลการิคัส เขานำแบคทีเรียสายพันธุ์นี้มาเพาะเลี้ยงในห้องแล็บและนำมาหมักกับนมสด
         ไม่นานจากผลการทดลองเขาสังเกตว่า ร่างกายดีขึ้นในหลายๆ ด้าน เขาลงมือค้นคว้าต่ออีกจนพบว่า จุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวชนิดที่มีคุณสมบัติย่อยน้ำตาล แลกโทส (Lactose) ให้เป็นกรดแลคติก จัดว่าเป็นจุลินทรีย์ชนิดดี เพราะไม่เพียงแต่ลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดร้าย แต่ยังเพิ่มจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้คนเรา จึงทำให้ป้องกันโรคได้มากมาย ลดการบูดเน่าและลดสารที่เป็นพิษจากอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้
        ปกติในลำไส้ของคนเรามีทั้งจุลินทรีย์ที่ดีหรือที่เรียกว่าจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งมีมากและมีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อ ช่วยปกป้องทางเดินอาหารของคนเรา ส่งผลให้สุขภาพภายในทางเดินอาหารหรือภายในลำไส้อยู่ในสภาพที่ดี จุลินทรีย์กลุ่มนี้ เช่น แล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) เป็นต้น ส่วนจุลินทรีย์ที่ไม่ดีหรือที่เรียกว่าจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งปกติมักไม่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร แต่ถ้าเข้ามาในทางเดินอาหาร ที่อาจจะติดมากับอาหารที่สกปรก อาหารบูด และถ้ามีจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคมากก็จะทำให้ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย มีปัญหาทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย เป็นต้น
        ดร. เมทช์นิคอฟฟ์ ได้ตีพิมพ์ผลงานความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตที่เขาค้นพบลงในตำราอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้ประกาศให้ทราบทั่วกันเกี่ยวกับ ทฤษฎีการมีสุขภาพที่ดีและอายุยืนยาว (The Prolongation of Life) เป็นที่ยอมรับ เมื่อ ค.ศ. 1907 ซึ่งในขณะนั้น ทฤษฎีนี้ได้สร้างความตื่นเต้นความฮือฮา เป็นที่สนใจกันมากไปทั่ววงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ และเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในเวลาต่อมา ทำให้เพื่อนๆ และคนทั่วๆ ไปหันมาดื่มนมเปรี้ยวตามมา แม้แต่แพทย์ก็เริ่มรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบย่อยอาหารด้วยการให้ดื่มนมเปรี้ยว ต่อมามีการค้นพบจุลินทรีย์ชนิดดีหรือจุลินทรีย์สุขภาพ เพิ่มจำนวนขึ้นอีกหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะแบคทีเรียกลุ่ม แล็กโทบาซิลลัส (Lactobacillus) บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และ สเตรปโทคอคคัส (Streptococcus) เป็นต้น

        เมื่อ ดร. เมทช์นิคอฟฟ์ เสียชีวิตลง เขามีอายุได้ 71 ปี นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้แย้งว่า ทฤษฎีของเขาไม่น่าจะเป็นไปได้ ทำให้ความนิยมดื่มนมเปรี้ยวลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังมีนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาตลอด ในปี ค.ศ. 1930 ดร.มิโนรุ ชิโรต้า นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแบคทีเรียกรดนมในลำไส้ของคนเรา และได้ค้นพบแบคทีเรียกรดนมชนิดอื่นอีก และเขาประสบความสำเร็จในการคัดเลือกพันธุ์จุลินทรีย์กรดนมที่สามารถทนต่อสภาวะกรดที่รุนแรงในลำไส้ของคนเราได้ คือ จุลินทรีย์ แล็กโทบาซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus Casei) สายพันธุ์ชิโรต้า (Shirota Strain) ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในลำไส้ ซึ่งคนได้หันมาสนใจถึงประโยชน์ของแบคทีเรียกรดนมจากแนวความคิดของ ดร.มิโนรุ ชิโรต้า สู่แนวความคิดของเขาที่กล่าวเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า Kencho Choju คือ ลำไส้ที่สมบูรณ์แข็งแรงเป็นหนทางสู่การมีอายุยืนยาว (Healthy intestine leads to a long life) จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 จุลินทรีย์กลุ่มนี้จึงถูกเรียกว่า โพรไบโอติก เมื่อมีผลการวิจัย ผลการศึกษาได้ทยอยกันออกมายืนยันผลดีเช่นเดียวกับผลงานของ ดร. เมทช์นิคอฟฟ์ ทำให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกได้กลับมาโด่งดังอีกครั้งหนึ่ง
        ในปี ค.ศ. 2001 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ได้กำหนดเพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันว่า โพรไบโอติก คือ กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะทำให้เกิดผลดีที่เป็นประโยชน์แก่สุขภาพ

โพรไบโอติก
กว่าจะมาเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม

        เมื่อเราหันย้อนไปดูประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าการกินโพรไบโอติกนั้นแฝงอยู่ในวัฒนธรรมของมนุษย์มานานนับพันปีแล้ว โดยอยู่ในรูปของนมเปรี้ยว ในภูมิภาคที่มีการเลี้ยงสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น วัว แกะ แพะ และจามรี ตามแถบคาบสมุทรบอลข่าน เช่น ตุรกี บัลกาเรีย ในดินแดนอาหรับ อินเดีย มองโกเลีย ทิเบต ประชาชนของประเทศเหล่านั้นที่เลี้ยงสัตว์จะรีดน้ำนมของสัตว์ที่เลี้ยงมาดื่มเป็นอาหาร และยังนำมาทำเป็นนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตอีกด้วย
        ในการดำรงชีวิตในสมัยก่อนชาวบ้านที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะเก็บน้ำนมไว้ในถุงที่ทำจากหนังสัตว์ แล้วนำติดตัวไประหว่างการเดินทาง ครั้นเปิดดูเขาก็พบว่านมมีรสเปรี้ยวและน้ำนมมีลักษณะข้นขึ้นกว่าเดิม เมื่อกินแล้วรู้สึกอร่อยและรู้สึกดีต่อสุขภาพร่างกาย ต่อมาพวกเขาก็เรียนรู้ที่จะพัฒนาความบังเอิญที่เขาพบมาเป็นอาหารในครัวเรือน นอกจากจะดื่มเป็นนมเปรี้ยวแล้ว ถ้าน้ำนมมีเนื้อเข้มข้นเป็นครีมจะเรียกว่า โยเกิร์ต (Yoghurt) ซึ่งต่อมาโยเกิร์ตก็เป็นที่นิยมกินกันมาก
        แต่ละประเทศแต่ละท้องถิ่น ประชาชนก็มีเคล็ดลับในการผลิตนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตที่แตกต่างกันไป แต่โดยปกติแล้วชาวบ้านจะนำน้ำนมสดที่รีดมาได้และมาต้มให้งวดจนเหลือน้ำนมหนึ่งในสามส่วน แล้วเทเก็บในถุงหนังสัตว์หรือหม้อดินเผาปิดฝาด้วยผ้าให้สนิทเพื่อให้เกิดการหมักตามธรรมชาติจนได้นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต
        การทำนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตในสมัยก่อนนั้น เป็นการทำกันในระดับครัวเรือนหรือในวงแคบๆ แต่เนื่องจากรับประทานโยเกิร์ตนั้นทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น การรับประทานนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น การผลิตก็ขยายตัวมากขึ้นไปสู่ประเทศต่างๆ ตามลำดับเช่นกัน จากการผลิตในครอบครัวจึงเข้าสู่กระบวนการผลิตยุคอุตสาหกรรมต่อมานั้นเอง

ที่มา : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)